มีด พร้า ศาสตราวุธโบราณ

มีด พร้า ศาสตราวุธโบราณ

คลังความรู้

พร้าโอ พร้าขอ ไอ้เด้ง
๐ คนโบราณเขามักถือเป็นธรรมเนียม เวลาออกไปทำธุระใด ๆ นอกบ้านใกล้หรือไกลก็ดี ไม่ให้เดินไปตัวเปล่า อย่างน้อยไม้กระบองไม้ตะพดสักอันหรือพร้ามีดสักเล่มติดมือปด้วยก็ยังดี พอได้ป้องกันสุนัขไล่วัวไล่ควาย ฟันไม้ฟันหญ้า พบงูเงี้ยวเขี้ยวขอก็พอได้ทุบตี พร้าโอและไอ้เด้งมีทำใช้กันแพร่หลายทั้ง นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี แปรเปลี่ยนเพี้ยนรูปไปตามการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คนและตามกาลเวลาเป็นสัจธรรม ๐

1. พร้าโอ รูปร่างสวยกว่าพร้าขอตามชื่อ (บางทีเรียกว่าพร้าลืมงอ)  ทั้งตัวพร้า ก้านหรือคอพร้าและด้ามไม้ไผ่มีความยาวอย่างได้สัดส่วนกัน แต่ด้ามเป็นส่วนที่ยาวที่สุด มีหลายขนาดสุดแต่จะสั่งตีตามขนาดกำลังรูปร่างของผู้ใช้ ถ้าเป็นคนเล็กร่างกายไม่แข็งแรงก็ใช้ขนาดย่อม ถ้าเป็นคนร่างสูงใหญ่กำลังดีก็ใช้ขนาดเขื่อง ความยาวจากปลายพร้าถึงโคนด้ามสูงเพียงแค่เอวหรือต่ำกว่าก็มี ขนาดยาวสูงเทียมคางคนถือก็มี โดยเฉพาะที่พวกนักเลงใช้ต้องยาวๆ ขนาดใช้ปลายปักดินใช้มือกุมปลายโคนเท้าคางยืนดูมโนราห์แข่งได้สบาย ซึ่งถือกันว่าใครมีพร้าโอขนาดนั้นถือและแสดงท่าทางอย่างนั้น จัดว่าเป็นนักเลงโตนักหนาทีเดียว ด้ามพร้าโอทำกันสวยงาม ประกวดประชันกันไปในตัว เจ้าของผู้ใช้หวงแหนเพราะตามปกติพร้าโอใช้เป็นอาวุธประจำกายอย่างหนึ่ง สำหรับใช้ป้องกันตัว เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีปืนแพร่ใช้แพร่หลายอย่างทุกวันนี้ ใช้ฟันไม้ ทุบ ตี ปอก ถาก ผลหมากรากไม้อะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้  ชาวบ้านปากใต้เวลาลงจากเรือนจะออกไปธุระนอกบ้าน ก็คว้าพร้าโอติดมือไปด้วยเสมอ คือถือพาดบ่าเดินไปอย่างสบาย เพราะก้านคอมีดแอ่นโค้งเข้าร่องบ่าพอดี พร้าโอ นอกจากจะใช้เป็นอาวุธติดตัวไปไหนมาไหนแล้วตามปกติยังใช้งานได้คล้ายกับพร้าขอตามโอกาสด้วยเหมือนกัน

2. พร้าขอ  หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่าพร้าหัวงอพร้าขอหรือพร้าหัวงอนี้ นิยมใช้กันแพร่หลายมากในภาคใต้ เป็นพร้าสำหรับประจำบ้านทีเดียว ใช้ฟันไม้ ถางหญ้าป่ารก ตัดหวาย ถางสวนเอนกประสงค์ ตือใช้แต่งานหนักเป็นหลัก เพราะตรงปลายพร้าที่ทำงอไว้เพื่อสำหรับใช้เกี่ยวดึงกิ่งไม้เถาย่านไม้ต่างๆ ฉะนั้นพื้นที่แถบที่เป็นสวนยางจึงใช้กันมาก เพราะต้องใช้ฟันถางสวนยางอยู่เป็นประจำ ปลายหรือหัวพร้ามีลักษณะงองุ้มอย่างปากนกแก้ว หรือคล้ายจมูกไอ้ทองตัวตลกหนังควน หรือหัวพร้างออย่างตะขอ ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า พร้าหัวงอ การที่เขาคิดทำให้ปลายพร้างอ ยังใช้ได้ดีในเวลาฟันไม้ฟันหญ้าในป่าหิน เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้คมมีดกระทบกับหินอีกด้วย  พร้าขอหรือพร้าหัวงอสมัยก่อนทำหัวสวยไม่งอมาก รูปทรงก็สวย คอยาว ปัจจุบันช่างตีเหล็กมักเป็นคนจีน จึงตีลวกๆ สวยงามสู้ของโบราณไม่ไ้ด้

3. มีดเด้ง ตามปกติชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าไอ้เด้งเพราะลักษณะเด่นของมันคือสันหลังมีดแอ่นโค้งตลอดแตกต่างกับมีดชนิดอื่น มีดเด้งขนาดใบมีดและความยาวพอๆ กับมีดดาบ แต่ปลายมีดแทนที่จะแหลมเรียวกลับทำใหญ่ปลายตัดเฉียง ด้ามสั้นงอเล็กน้อยขนาดพอเหมาะกับมือ ด้ามนิยมใช้เขาวัวเขาควาย เวลาหวดฟันถนัดกระชับมือดี มีดเด้งโดยทั่วไปมีไว้สำหรับใช้หวดฟัน กก หญ้า ราโพ ปรือ ระกำ (ระกำหนู ระกำผี) ที่ขึ้นสูงๆ รกปกคลุม จะสามารถทำงานได้ดีกว่า ปะหญ้า ยิ่งถ้าคนกำลังดีจะหวดได้เร็วมากทั้งซ้ายทั้งขวา  นอกจากนี้ยังใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวออกศึกสงครามด้วย  สมัยก่อนเวลาถึงประเพณีชักพระ เมื่อเกิดวิวาทกันก็จะได้เห็นไอ้เด้งแกว่งไกวขวักไขว่ทีเดียว เป็นไปตามคำพังเพยท้องถิ่นว่าถ้าไม่พบกันเมื่อวันชักพระ ก็คงได้ทะกันวันแห่ศพมีดเด้งบางท้องถิ่นเรียกระดิงจึงเข้าใจว่าเดิมอาจได้แบบอย่างมาจากแขกมลายูก็ได้ ไอ้เด้งสมัยก่อนรูปร่างสวยมากฝีมือประณีต สมัยปัจจุบันเอาไปเทียบไม่ได้เลย ทางอำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ใช้แพร่หลายที่สุด เพราะพื้นภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มทุ่งนาทุ่งหญ้า จึงต้องอาศัยใช้ไอ้เด้งหวดฟันกกหญ้าอยู่เป็นประจำ การป้องกันไม่ให้ไอ้เด้งหลุดจากมือเวลาต่อสู้ ใช้ผ้าขาวม้าหรือเชือกพันหุ้มมือติดกับมีด เวลาคมมีดของคู่ต่อสู้แฉลบมาถูกจะไม่เป็นอันตรายมาก

ย่อความจาก “หนังสือของใช้พื้นเมืองภาคใต้” พิมพ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๗
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ ผู้เขียน (ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ – ภัณฑารักษ์โท หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๘ ในขณะนั้น ท่านเป็นผู้รวบรวมโบราณวัตถุนำมาจัดแสดงไว้ใน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช)
ผู้เรียบเรียงและถ่ายภาพ: ธนชัย เนื่องจำนงค์
(ภาพถ่ายจาก พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช, พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
คลังความรู้ บทความล่าสุด